วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องของ "หนี้" (สหกรณ์)

     คิดอยู่นานมากๆ ว่าจะเขียนบทความเรื่องนี้ดีมั้ย?? เพราะว่าเรื่องที่จะเขียน มันอาจจะกระทบหลายๆคนที่มีปัญหาเรื่องนี้กันถ้วนหน้า แต่เพราะจุดประสงค์และความตั้งใจของผมตั้งแต่เริ่มต้นของการเขียนบทความคือ "เพื่อแชร์ความรู้ ประสบการณ์ สไตล์นักลงทุนมือใหม่ ทั้งในด้านการลงทุนและการใช้ชีวิตส่วนตัว เป็นบันไดเพื่อก้าวไปสู่อิสรภาพทางการเงิน" ดังนั้นความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ผมจึงอยากจะเอามาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านและนำกลับไปคิดทบทวนกันเองนะครับ..

     ที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นเรื่องของ "หนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์" ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มแยกประเภทตามอาชีพ เช่น สหกรณ์ครู ทหาร ตำรวจ สาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ/ส่วนท้องถิ่น เอกชนและอื่นๆ ซึ่งข้อมูลจากนิตยสารการเงินการธนาคาร แสดงสัดส่วนการกู้ยืมของทุกกลุ่มสาขาอาชีพ สรุปได้ตามรูปต่อไปนี้

ที่มา: www.facebook.com/moneyandbanking
     เป็นที่น่าตกใจว่า สัดส่วนที่มากที่สุดของการกู้ยืมเงินสหกรณ์ คือ "กู้หนี้ไปใช้หนี้" รองลงมาคือ ใช้สอยส่วนตัว ซื้อสร้างปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือน ตามลำดับ ก่อนที่ผมจะเห็นข้อมูลนี้ ก็เข้าใจว่า คนที่กู้เงินสหกรณ์ส่วนใหญ่จะกู้ไปทำธุรกิจ หรือ กู้ไปซื้อที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเห็นสัดส่วนแล้ว ผมก็ชักไม่แน่ใจซะแล้ว..
     ทีนี้มาแยกดูแต่ละสาขาอาชีพกันบ้าง ผมจะขอยกตัวอย่างมาซัก 3 กลุ่มให้เห็นภาพกันคร่าวๆดังนี้ครับ




     ตัวเลขดังกล่าวเป็นหนี้สินเฉลี่ยต่อคน ที่นำโด่งมาเลยก็หนีไม่พ้น "คุณครู" ของเรานี่เองครับ หนี้เฉลี่ยต่อคนสูงถึง 864,860 บาท อย่าลืมว่า นี่เป็นเพียงตัวเลขหนี้สหกรณ์ เท่านั้น ยังไม่รวมไปถึงหนี้สถาบันการเงินอื่นๆอีก ซึ่งผมก็เข้าใจว่า แต่ละคน ก็คงมีภาระแตกต่างกันไป คงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรมาก แค่ต้องการจะฝากให้ทุกท่านช่วยกันคิดวิเคราะห์และก็ตรวจสอบตัวเองดูละกันครับว่า ถึงเวลาที่เราจะหยุดก่อหนี้เพิ่ม แล้วหันมาใส่ใจสุขภาพทางการเงินในครอบครัวของเราแล้วหรือยัง ??

         >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊ก ที่นี่!! <<

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ลงทุนหุ้นกลุ่มค้าปลีก

     เมื่อพูดถึงธุรกิจค้าปลีก นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าของสโลแกน "หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา 7-Eleven" ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปแห่งหนตำบลใด ก็ต้องพบกับร้านสะดวกซื้อชื่อดังแห่งนี้ และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสุดยอดธุรกิจอันดับต้นๆของเมืองไทย..


     7-Eleven หรือชื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือ CPALL ถือว่าเป็นธุรกิจค้าปลีกอันดับ 1 ของเมืองไทย เป็นสุดยอดธุรกิจที่ยากจะหาใครมาแทนที่ ด้วยจำนวนสาขา ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 รวมทั้งสิ้น 9,788 สาขา แบ่งเป็น :
     (1) ร้านสาขาบริษัท 4,391 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 45)
     (2) ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 5,397 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 55)
     ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 86 ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
    >> เป้าหมาย : จะขยายสาขาให้ครบ 13,000 สาขา ในปี พ.ศ.2564
 
ที่มา www.set.or.th
     เมื่อมาดูที่งบการเงิน กวาดตาดูคร่าวๆ รายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของบริษัท ผมเป็นคนนึงที่เข้าไปซื้อของที่ 7-11 อย่างน้อยไม่น่าจะต่ำกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งจากข้อมูลในงบการเงินระบุว่า จำนวนลูกค้ารวมทุกสาขาประมาณ 11.5 ล้านคน/วัน และ ยอดขายรวมทุกสาขาประมาณ 760 ล้านบาท/วัน  OMG!!!
     แน่นอนว่า หุ้น CPALL เป็นหุ้นหนึ่งในดวงใจที่ผมเฝ้าติดตามมาเป็นเวลานาน ราคาปรับตัวขึ้นมาตลอดทาง และขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 65.75 บาท เมื่อวันที่ 17 พ.ค.60 หลังจากนั้นก็เริ่มย่อตัวสลับขึ้นเล็กน้อยเพื่อปรับฐาน จนถึงเมื่อวาน 12 ก.ค.60 ราคาตกลงมาอยู่ที่ 59.50 บาท ถ้ามองจากการประเมินมูลค่า ถือว่าราคาไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูก แต่มันก็ทำให้ผมอดใจไม่ไหวที่จะเริ่มแหย่เท้าเข้าไปซักเล็กน้อยเป็นการชิมลาง...
         
           >>ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!!
     

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เลือกหุ้นจาก "ภรรยา"

      ผู้หญิง มักมาพร้อมกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง เธอทั้งหลายต้องจัดเต็มกันตลอดเวลา ทั้งเดินช้อปตามห้างและสั่งซื้อออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีให้ถลุงกันเยอะแยะไปหมด แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ภรรยาคนสวยของผมไม่ค่อยใส่ใจมากนัก อาจจะมีบ้างนานๆที (นี่เป็นเหตุผลที่ผมเลือกเธอมาเป็นคู่ชีวิต ^_^ )  >>จั่วหัวมาซะขนาดนี้จะมีคนอ่านต่อมั้ยวะเนี่ย 55555+ 
      
      แต่!!...มีสิ่งนึงที่เธอชอบมาก หลายๆครั้งที่มีเวลาว่าง เธอจะเปิด Internet นั่งดู นั่งชมเพลินๆตลอด นั่นคือ "เพชร" ไม่ว่าจะเป็นแหวน จี้ ต่างหู สร้อยคอ พอเปิดดูแต่ละทีก็ต้องแลซ้ายมาถามสามีทุกทีว่า อันนี้สวยมั้ย แบบนี้สวยมั้ย แบบไหนสวยกว่ากัน ทู้กกกกที ไอ้เราก็ต้องตอบเธอทุกครั้ง (ลองไม่ตอบดูสิ!!)

     
     ด้วยความที่ผมเริ่มสนใจศึกษาธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ผมเลยคิดว่าธุรกิจผลิตและจำหน่ายเพชรก็น่าสนใจไม่น้อย เมื่อก่อน ผมก็คิดว่าคนที่ได้ครอบครองเพชรต้องเป็นคนที่มีฐานะพอสมควร แต่ด้วยความที่ภรรยาผมชอบเปิดให้ดูนู่นดูนี่บ่อยๆ ก็พบว่า คนชั้นกลางอย่างเราๆก็สามารถซื้อเพชรได้ในราคาที่ไม่แพงนัก จึงจุดประกายให้ผมเริ่มเข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และก็พบว่า...
     
     1) ปัจจุบันบริษัทมีจุดจำหน่ายเพชร 122 สาขาทั่วประเทศ ส่วนมากจะอยู่ตามห้างสรรพสินค้าตามหัวเมือง และมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
     2) ฐานลูกค้าปัจจุบันมีประมาณ 150,000 ราย ซึ่งมีโอกาสเพิ่มขึ้น จากแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นที่รู้จัก และจากสังคมที่คนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
      
     ผมทำการประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทนี้แล้ว เห็นว่าราคายังต่ำกว่ามูลค่าพอสมควร อาจจะเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่คนยังไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยเท่าไรนัก โดยเฉพาะในสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นโอกาสดีที่เราจะเข้าไปสะสมหุ้น เพื่อรอจังหวะที่บริษัทเริ่มมีกำไรกลับมาเติบโตขึ้น และราคาหุ้นก็จะสะท้อนมูลค่าของกิจการออกมา ถึงตอนนั้นเราก็คงต้องมาพิจารณาอีกทีว่าจะขายทำกำไรหรือจะถือหุ้นต่อไป...

           ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!!

วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ลงทุนหุ้น(อาจจะ)เสี่ยง..แต่!! คุณหลีกเลี่ยงมันได้ จริงหรือ??

     หลังจากที่ผมได้แชร์ประสบการณ์เรื่องการลงทุนไปหลายบทความ เริ่มมีหลายๆคนที่รู้จัก เริ่มสนใจ อยากที่จะเข้ามาลงทุนทั้งในรูปแบบของหุ้นรายตัว และกองทุนรวม คำถามแรกที่คนส่วนมากจะถาม (ทั้งที่ผมไม่อยากให้เริ่มจากคำถามนี้เลย) คือ "เป็นไงบ้าง กำไรดีมั้ย , ผลตอบแทนได้กี่% , ซื้อตัวไหนบ้าง ,ตัวนี้ดีมั้ย ,ตัวไหนกำลังมา ฯลฯ)  บางคน พอได้รับคำตอบจากผม สิ่งที่เคยคาดไว้ก็ไม่ผิดจากที่ผมคิด..
     
     "ไม่เอาดีกว่า..มันช้า ขี้เกียจรอ ปล่อยเงินกู้ดีกว่าบ้างแหละ...เล่นแชร์ดีกว่าบ้างแหละ...กลับไปลุ้นหวยเหมือนเดิมดีกว่าบ้างแหละ...บลา บลา บลา" ผมก็ไม่ได้ฟันธงว่าอย่างไหนดีกว่ากัน แล้วผมก็ไม่ได้บังคับใครให้มาลงทุนนี่หว่า แนะนำไปก็ไม่ได้เงินซักบาท เราก็แค่แชร์เรื่องราวที่(อาจจะ)เป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมโลกก็แค่นั้น แต่ที่ผมอยากจะตั้งคำถามกับทุกคนคือ..คุณหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นได้จริงหรือ??  มา..เดี๋ยวมาดูกัน...

     1. กองทุนประกันสังคม ที่เราๆท่านๆโดนหักไปทุกๆเดือน เค้าเอาเงินเราไปทำอะไรกัน ??


     ข้อมูลเมื่อ วันที่ 31/8/2556 กองทุนประกันสังคมแบ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเป็น 6% ของพอร์ต แต่เมื่อแนวโน้มของเงินที่จะต้องจ่ายให้ผู้เกษียณอายุหรือผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องปรับสัดส่วนการลงทุนไปหาสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าในระยะยาว แผนการลงทุนเมื่อถึง วันที่ 31/12/2561 กองทุนประกันสังคมต้องลงทุนในหุ้น 21% ของพอร์ต

     2. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 
ที่มา : www.a-academy.net
     จากข้อมูลตามตาราง(ลางๆ) จะเห็นสัดส่วนการลงทุนซึ่งผมจะยกเฉพาะตราสารทุน(ซึ่งก็คือ "หุ้น") ปรากฎว่า แผนการลงทุนของ กบข.สำหรับข้าราชการที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นถึง 65% ของพอร์ต หลังจาก 45 ปีขึ้นไป กองทุนก็จะทำการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเรื่อยๆเพื่อลดความเสี่ยงไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่ง ผมก็ไม่แน่ใจว่า ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทราบหรือไม่ว่าที่ท่านๆโดนหักเงินไปทุกๆเดือน เค้าเอาไปลงทุนใน "หุ้น" นะครับท่าน..

     3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 
ที่มา : www.bangkokbiznews.com
     แผนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัท อาจจะแตกต่างกันไปตามนโยบาย แต่ยังไงก็แล้วแต่ ทางเลือกของการลงทุนก็จะยังมีหุ้นอยู่ด้วยในเกือบจะทุกแผนอยู่แล้ว

     หลังจากตัวอย่างทั้ง 3 ข้อ ผมขอถามซ้ำอีกครั้ง..คุณหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นได้จริงหรือ?? ผมคงไม่ต้องตอบคำถามนี้แล้ว ถ้าทุกคนได้อ่านมาตั้งแต่เริ่มต้น ฉะนั้น มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนต้องศึกษาวิชาการลงทุนเป็นวิชาติดตัว อย่าไปยึดติดคำโบราณที่บอกว่า "คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น" ทั้งที่คุณเองก็ได้ลงทุนในหุ้นไปแล้วโดยที่คุณ(อาจจะ)ไม่รู้ตัว...

              >>ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<