วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

สรุปผลตอบแทนการลงทุนในหุ้น ปี พ.ศ.2563

      ห่างหายไปนานมากๆ (นับจากโพสต์ล่าสุดก็ปีกว่าๆ555) สำหรับการอัพเดตบทความในบล็อคของผม เนื่องจากเหตุผลหลายประการ เอาเป็นว่าผมโทษตัวเอง ที่ขาดวินัยไปในช่วงที่ผ่านมาครับ แต่ตอนนี้ผมกลับมาแล้วครับ มาพร้อมกับการสรุปผลตอบแทนการลงทุนในหุ้น ปี พ.ศ.2563 โดยวัดผลตอบแทน วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ถึง 30 ธันวาคม 2563 ไปดูกันเลยครับ...

     1. ผลตอบแทน เทียบกับ SET Index หรือดัชนีทั้งตลาด 

           >>> กราฟสีชมพู คือ ผลตอบแทนในพอร์ตของผม  +13.46% 

         เทียบกับ  กราฟสีเหลือง คือ ผลตอบแทน SET Index - 8.26%  (ผลต่าง 21.72%)

ที่มา : www.bualuang.co.th
    
     
     2. ผลตอบแทน เทียบกับ SET50 Index หรือดัชนีหุ้นใหญ่ที่สุด 50 อันดับแรกในตลาด

            >>> กราฟสีชมพู คือ ผลตอบแทนในพอร์ตของผม  +13.46% 

         เทียบกับ  กราฟสีฟ้า คือ ผลตอบแทน SET50 Index - 14.79%  (ผลต่าง 28.25%)

ที่มา : www.bualuang.co.th

     อย่างที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยและทั่วทั้งโลก ประสบกับวิกฤติ Covid-19 ทำให้หุ้นร่วงกันเละเทะทั้งตลาด หลังจากนั้นก็ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมาแต่ SET Index และ SET50 ก็ยังติดลบที่ -8.26% และ -14.79% ตามลำดับ แต่ผลตอบแทนของผมก็ยังบวกชนะตลาดได้ก็เนื่องมาจากสาเหตุหลักๆดังต่อไปนี้
           1. ผมเลือกหุ้นพื้นฐานดี โดยส่วนใหญ่จะลอกการบ้านมาจาก Jitta Ranking ในเว็ป jitta.com
           2. หุ้นในพอร์ต มี 3-5 ตัว บวกลบ แต่ไม่เกิน 7 ตัว เพื่อกระจายความเสี่ยง และ กระจายอุตสาหกรรม
           3. มีการปรับพอร์ตเป็นระยะ โดยเน้นหุ้นตัวกลาง+ตัวเล็ก ที่วิ่งได้เร็วและแรงกว่าตลาด แต่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกหุ้นอิงจาก jitta.com เช่นเคย
           4. เริ่มใช้เทคนิคอล(บ้าง)เพื่อหาจังหวะซื้อขายที่ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะชนะตลาดได้ในระยะยาวหรือไม่ ต้องคอยลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะมาอัพเดตให้ดูอีกทีครับ
            
             >>  ติดตามบทความอื่นๆ คลิกที่นี่!!

     

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เกร็ดความรู้ ใน 7-11

   
เครดิต : www.stock2morrow.com
     เป็นประจำแทบจะทุกวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ที่ผมจะเข้าไปซื้อกาแฟ All-Cafe ใน 7-11 แถวบ้าน บังเอิญว่าเมื่อวานช่วงที่เข้าไป คนดันเยอะมากๆ เลยสั่งกาแฟทิ้งไว้ แล้วเดินเล่นๆภายในร้าน ในช่วงระหว่างรอ ปกติผมก็ชอบเดินสำรวจสินค้าใน 7-11 เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่เคยได้สังเกตุที่ป้ายราคาสีเหลืองๆ นอกจากจะมีราคา มีบาร์โค้ดแล้ว มันยังมีรหัสภาษาอังกฤษกับตัวเลขเล็กๆติดอยู่ ด้วยความอยากรู้เลยต้องลองค้นหาข้อมูลซักหน่อย มันคืออะไร?? ไปดูกันครับ..


    ยกตัวอย่างในหมวดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ทุกๆคนน่าจะรู้จักกันดี มาม่ารสต้มยำกุ้ง ครองแชมป์ขายดีที่สุด สังเกตุจาก สัญลักษณ์ T1 ที่ไฮไลต์สีส้มๆ หมายถึง สินค้าที่ขายดีมาก ( T ย่อมาจาก TOP) จุดสังเกตุอีกอย่าง (อันนี้ผมคิดเอาเอง) คือสินค้าที่ขายดีมาก จะอยู่ในระดับสายตาของเราพอดิบพอดี เพื่อให้หยิบง่าย ขายคล่อง

     
     ไวไว หอยลายผัดฉ่า ที่ผมโปรดปราน จะติด สัญญลักษณ์ T2 คือ สินค้าขายดีรองลงมาจาก T1 การจัดวางก็จะลงมาอยู่ชั้นล่างถัดจากสินค้า T1

     หมวดอื่นๆ อย่างนมแลคตาซอย แต่ละรสชาติ ก็จะขายดีแตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ติด T1 T2 ก็จะเป็นประเภทที่ซื้อง่ายขายคล่องอยู่แล้ว เช่น น้ำ นม ขนม ต่างๆนานา นอกจากนี้ ก็ยังมี T3 T4 ตามลำดับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสาขานั้นๆ บางสาขาจะติด TOP อาจจะไม่เหมือนกัน 
     ยังไงเวลาเพื่อนๆเข้า 7-11 ก็ลองสังเกตุกันดูเล่นๆนะครับ ในส่วนของนักลงทุนหุ้น บางที สินค้านั้นๆ อาจจะติด TOP ในหลายๆสาขา ซึ่งปัจจุบัน 7-11 ในประเทศไทยตอนนี้ทะลุ 10,000 สาขาไปเรียบร้อยแล้วครับ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับหุ้น CPALL ไปครั้งนึงแล้ว <<อ่านบทความ "ลงทุนหุ้นกลุ่มค้าปลีก">> อาจจะใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อหุ้นไปเลยก็จะดีไม่ใช่น้อยครับ..

              ติดตามบทความอื่น "คลิ๊ก!! ที่นี่"

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ครบ 1 ปี กับการลงทุนในหุ้นรายตัว

   
     15 พ.ค.61 วันครบรอบ 1 ปี กับการลงทุนหุ้นตัวแรกในชีวิต และ 3 ปีกว่าๆ กับการเริ่มลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ ผมเริ่มลงทุนในหุ้นด้วยเงินลงทุน 5,000 บาทถ้วน จำนวนเงินเท่ากับที่เริ่มลงทุนในกองทุนเลยทีเดียว อ่านบทความ:จุดเริ่มต้นการลงทุน คลิ๊ก!! ที่นี่!! และจนถึงปัจจุบัน หุ้นตัวแรกตัวนั้นก็ยังอยู่ประดับพอร์ตของผม พร้อมๆกับจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
     ด้วยวินัยที่แข็งแกร่ง (นี่!! มีชมตัวเอง) จากเงินเริ่มต้น 5,000 บาท ปัจจุบันพอร์ตหุ้นของผมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเงินเดือนทุกๆเดือนตั้งแต่วันแรกที่เงินเข้าบัญชี จากเงินปันผลในกองทุนหุ้น กำไรที่ได้จากการขายหุ้นบางตัว รวมทั้งเงินพิเศษอื่นๆ ต่างวิ่งเข้าพอร์ตหุ้นในทันทีทันใด
     ผมยังเชื่อในพลังของดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่ผมได้เริ่มต้นศึกษาตั้งแต่เกือบ 4 ปีที่แล้ว และพยายามเร่งใส่เงินต้นเข้าไปให้เร็วที่สุด ถ้าเทียบกับการสร้างตึกอาคาร ปัจจุบันนี้ ผมได้สร้างฐานรากและงานโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว (จากทั้งกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ เงินสดเผื่อฉุกเฉิน) หลังจากนี้เงินลงทุนก้อนเล็กๆใหม่ที่จะเข้ามาแต่ละเดือนทั้งหมด จะเข้าไปที่พอร์ตหุ้นเพื่อรอเก็บสะสมไปเรื่อยๆ


     Portforlio (บัญชีหุ้น) ของผม ประกอบไปด้วย หุ้น 71.25% , เงินสด (เพื่อรอซื้อหุ้น) 28.76% ปัจจุบันมีหุ้นอยู่ในพอร์ตทั้งหมด 7ตัว (ตอนแรกวางไว้ไม่เกิน 5ตัว แต่มันคันมือเลยจัดเพิ่ม 555) แต่ถ้าเทียบกับนักลงทุนอื่นๆ พอร์ตของผมคงเล็กเท่าจิ๋มมดเป็นแน่แท้ ในบทความนี้คงยังไม่ได้พูดถึงผลตอบแทนการลงทุน เนื่องจากปริมาณเงินอันน้อยนิด บวกกับประสบการณ์ที่ยังน้อย คงยังไม่สามารถวัดอะไรได้มากนัก ซึ่งดูจากกราฟแสดง Portfolio Performance ยังแพ้ตลาดอยู่พอสมควร...


     หลังจากนี้ ผมคงต้องทำการบ้านในการศึกษาหาความรู้เพื่อปรับพอร์ตให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การลงทุนเป็นการลงทุนเพื่อชีวิต เพื่อการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และสุดท้ายเป้าหมายเดิมคือ "อิสรภาพทางการเงิน"
                 ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊ก ที่นี่!!

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2561

เลือกหุ้น..แถวหน้าปากซอย..

   
   

     เปิดบทความด้วยภาพๆนี้ครับ เชื่อว่าทุกๆท่านคงไม่มีใครไม่รู้จัก "ตู้บุญเติม" ไม่ว่าจะเดินทางไปแห่งหนตำบลใด ก็มักจะเห็นตู้สีส้มๆนี้ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่แน่นอน บางคนอาจจะไม่เคยใช้บริการ แต่เชื่อว่า มีอีกหลายๆคนเลยทีเดียวเชียวแหละ ที่ใช้บริการเป็นประจำ...
     ก่อนที่ผมจะศึกษาเรื่องการลงทุนในหุ้น ผมก็ไม่ได้สนใจมันซักเท่าไหร่นัก นานๆครั้งจะได้ไปหยอดตู้เพื่อเติมเงินซักทีนึง หลายๆคนก็คงคิดเหมือนผมช่วงแรกๆ ว่า (โถๆๆ...ทุกวันนี้เค้าใช้บริการออนไลน์ผ่านมือถือกันหมดแล้วววว คุณไปอยู่ไหนกันมา...) ใช่มั้ยล่ะครับ แต่เดี๋ยวก่อน!! อย่าเพิ่งตัดสินอะไรง่ายๆ เจาะเข้าไปดูข้อมูลกันก่อนดีกว่ามั้ย?? ตามมาครับ...
     บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ คือ "FSMART" ลักษณะธุรกิจ คือ ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า และ บริการชำระเงินออนไลน์ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ (ตู้เติมเงิน) ภายใต้เครื่องหมายการค้า "บุญเติม"  ซึ่ง ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2560 มีคร่าวๆดังนี้
     1. บริษัทมีจำนวนตู้ทั้งสิ้น 124,653 ตู้ เป้าหมายปี 2561 จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 20,000 ตู้ 
     2. ภาคอีสานมีจำนวนตู้เยอะสุด คิดเป็น 29% รองลงมาเป็นภาคกลาง และ กทม. ตามลำดับ
     3. จำนวนลูกค้า 25 ล้านเลขหมาย (คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเลขหมายทั้งหมด)
     4. มีการให้บริการ 71 รายการ รองรับ 4 ภาษา เติมเงินได้ทุกค่าย
     5. ปัจจุบันประเทศไทย มีหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 90 ล้านเบอร์ แบ่งเป็น แบบเติมเงิน 70 ล้านเบอร์ รายเดือน 20 ล้านเบอร์
      มาดูในส่วนของงบการเงินแบบง่ายๆกันบ้าง..(อ่านวิธีการคัดกรองหุ้นเบื้องต้น คลิ๊ก!!)
ที่มา : www.set.or.th
     สแกนแบบคร่าวๆ รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม ปันผลเพิ่ม เข้าเกณฑ์การคัดกรองหุ้นทุกประการ แหม่!! มันน่ายั่วยวนยิ่งนัก หันไปดูแนวโน้มธุรกิจในอนาคต ผมมองว่าในระยะ 3-4 ปี ข้างหน้า ผมก็ยังคิดว่าธุรกิจก็ยังจะสามารถเติบโตไปได้อีก เนื่องจาก กลุ่มลูกค้าปัจจุบัน ยังเป็นผู้มีรายได้น้อย ถึง ปานกลาง ยกตัวอย่างเช่น คนงานก่อสร้างทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะถือเงินสด และพฤติกรรมการเติมเงิน ไม่น่าจะเกินครั้งละ 100 บาท ฉะนั้น การเติมเงินออนไลน์อย่างที่เราๆท่านๆใช้อยู่ น่าจะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ในเร็วๆนี้แน่นอน

     หันมาดูการประเมินมูลค่าหุ้น อย่างง่ายๆโง่ๆ (มากๆ)...

     จากรูป ผมทำการประเมินมูลค่าหุ้น (ลืมไปว่ายังไม่ได้เขียนบทความเรื่องการประเมินมูลค่าหุ้นให้อ่าน ไว้คราวหน้านะครับ) ดีดตัวเลขออกมาแล้ว ทั้งกรณีเลวร้ายสุด กลางๆ หรือดีสุดๆ ดูยังไงก็น่าจะมีโอกาสทำกำไรจากหุ้นตัวนี้ แต่จะเท่าไหร่ ก็ดูตามตัวเลขเอาละกันครับ (ไม่ได้เชียร์หุ้นนะจ๊ะ อิอิ)

     หันมาดูราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน...

     ราคาหุ้น ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 11.80 บาท ยิ่งทำให้ผมสนใจหุ้นตัวนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากราคาหุ้นมีการปรับตัวลงจากประมาณ 20 บาท เมื่อปลายปี 2560 เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า เซเว่น อีเลเว่น  (7-11) จะทำธุรกิจแบ้งค์กิ้งค์ เอเย่นต์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้กระทบกับรายได้ของบริษัทฯ ตลาดเกิดการตกใจ ราคาก็เลยรูดลงมาหนักอย่างที่เห็น ซึ่ง(อาจจะ) เป็นโอกาสให้เราๆท่านๆกระโดดเข้าไปสะสมหุ้น ก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อนๆควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุนนะครับ...

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560

สร้างพอร์ตเพื่อการศึกษาบุตร

   
     วันพฤหัสบดี ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เวลา 14.42 น. เป็นวันที่ ด.ญ.ขวัญจิรา ภูโสภา (น้องของขวัญ) ได้ออกมาลืมตาดูโลก พร้อมกับเพื่อนๆอีกมากมายจนล้นห้องคลอด โรงพยาบาลชัยภูมิ ในวันนั้น ผ่านเวลาแห่งความสุขมาจนครบ 2 สัปดาห์ และอีกไม่กี่วันจะหมดปี 2560 อย่างรวดเร็ว..


     วันนี้ผมตื่นมาตั้งแต่เช้ามืด (เมื่อคืนหลับแซบ ตัวเล็กไม่ค่อยกวน) สมองปลอดโปร่ง เลยมีเวลามานั่งอ่านข่าว อ่านโน่นนี่นั่น  และมีเวลาได้ติดตามพอร์ตการลงทุน รวมทั้งวางแผนการในปีหน้า
     คิดขึ้นได้ว่า ตั้งแต่น้องของขวัญลืมตาดูโลกมา ทั้งพ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา เข้ามาเยี่ยมน้อง รวมทั้งได้กรุณาผูกแขนรับขวัญน้องมากมาย เราสามคนพ่อแม่ลูก จึงถือโอกาสขอบคุณทุกๆท่านเป็นอย่างสูง มา ณ ที่นี้ และเราสัญญาว่าจะนำเงินรับขวัญส่งต่อให้น้องของขวัญและจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มาดูกันว่า เราจะทำอย่างไร??
      เรา(ผมกับภรรยา) ปรึกษากันและเริ่มสร้างพอร์ตการลงทุนให้ลูกมาซักระยะแล้ว ติดตามบทความเก่า ได้ ที่นี่ >> วางแผนมีทายาท วางแผนการลงทุน และแน่นอนว่า เงินรับขวัญน้องของขวัญ เราคงเอาไปลงทุนต่อยอด สร้างเป็น "พอร์ตเพื่อการศึกษาบุตร" ต่อไป


     จากรูป ด้วยสมมุติฐานที่ว่า ผมนำเงินรับขวัญ+เงินเก็บ ใส่เข้าไปในพอร์ตกองทุนหุ้น หรือ หุ้นรายตัว ด้วยจำนวนเงิน 50,000 บาท โดยไม่ได้เติมเงินเข้าไประหว่างทาง ใช้ระยะเวลาการลงทุน 18 ปี มาจากปีที่น้องของขวัญจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และคาดหวังผลตอบแทน 12% ต่อปี มาจากอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 42 ปี ย้อนหลังของตลาดหุ้นไทย
     ฉะนั้น ด้วยเงินต้น 50,000 บาท เมื่อผ่านไป 18 ปี มูลค่าจะเพิ่มเป็น ประมาณ 380,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 7.6 เท่า แน่นอนว่า เงินจำนวนที่ว่า อาจจะน้อยนิด และอาจจะไม่เพียงพอ สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราก็ไม่อาจทราบได้ว่า ในอนาคต ค่าเล่าเรียนจะสูงสักแค่ไหน แต่นี่คือจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ผมจะชี้ให้เห็นพลังของดอกเบี้ยทบต้นว่ามันมีประสิทธิภาพเพียงใด และอยากเชิญชวนทุกๆคน มาวางแผนไปกับเรา เพื่อชีวิตที่ดีในระยะยาว แล้วมาติดตามกันว่า เมื่อระยะเวลาผ่านไป พอร์ตเพื่อการศึกษาบุตร ของเราจะเติบโตขึ้นขนาดไหน และจะถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่..
       "เริ่มน้อยๆ ดีกว่าไม่เริ่ม" นะครับ

        ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊ก ที่นี่!!

วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แชร์วิธีการคัดกรองหุ้นเบื้องต้น

     ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยขึ้นมาแรงและเร็วมาก จนดัชนีเข้าใกล้ 1,700 จุด และมีแนวโน้มจะทะลุผ่านไปได้อีกด้วย มือใหม่อย่างผมก็ยังมึนๆงงๆ ทำอะไรไม่ถูก ได้แต่นั่งทับมือตัวเองไปเรื่อยๆ โดยการ ไม่ขายหุ้นที่ยังบวกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และขณะเดียวกันก็ไม่มีการซื้อเพิ่มแต่อย่างใด ได้แต่นั่งมองหุ้นที่เล็งๆไว้วิ่งขึ้นเป็นรถไฟเหาะเลยทีเดียว 5555
     มาเข้าเรื่องกันดีกว่า บทความนี้ผมตั้งใจจะมาแชร์วิธีการคัดกรองหุ้นแบบง่ายๆสไตล์มือใหม่ ซึ่งวิธีทั้งหมดทั้งมวล ผมก็ได้มาจากวิดีโอ youtube ของ a-academy อาจารย์ของผมนั่นเอง แต่ผมจะขออนุญาตนำมาบอกเล่าให้เพื่อนๆได้อ่านกัน ตามวิธีการของผมละกันนะครับ...
     ผมทำการศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนในหุ้นมาประมาณ3ปีกว่าๆ ตั้งแต่ยังไม่มีเงินเก็บมาลงทุนด้วยซ้ำ จนเริ่มลงทุนในกองทุนหุ้นเมื่อ ม.ค.58 และ เริ่มซื้อหุ้นตัวแรกเมื่อ พ.ค.60 นี่เอง โดยหลักๆจะใช้วิธีการคัดกรองหุ้น 4 ขั้นตอน ดังนี้

1.) คัดธุรกิจที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจออกไปก่อน
     >> ผมจะเข้าไปใน www.set.or.th ไปไล่ดูรายชื่อหุ้นทุกตัว ตั้งแต่ A-Z แล้วไปอ่านดูลักษณะธุรกิจ ตัวไหนยังไม่รู้จัก ยังไม่เข้าใจ ผมตัดออก สรุปแค่ข้อนี้ ผมคัดหุ้นออกไปเกินครึ่ง แล้วไปคัดกรองในเกณฑ์ถัดไป

2.) ต้องเป็นธุรกิจที่มีหนี้น้อย
       >> ใช้ข้อมูลจาก www.set.or.th เช่นเคย โดยการใช้ (D/E Ratio = หนี้สินรวม/ส่วนของผู้ถือหุ้น) ตามรูป โดยค่าที่ได้ ไม่ควรเกิน 1-1.5 เท่า หากเกินนี้แสดงว่าบริษัทมีหนี้มากเกินไปแล้ว

3.) บริษัทต้องมีรายได้เติบโตดี สม่ำเสมอ
       >> ทำการกรอกข้อมูลใส่ใน excel แล้วนำมาคิดเป็นเปอร์เซนต์การเติบโตเฉลี่ยในแต่ละปี ซึ่งบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ ควรโตเฉลี่ย 8-10% เพื่อสะท้อนว่าบริษัทยังสามารถขยายกิจการได้เรื่อยๆ

4.) อัตราการทำกำไรคุ้มค่า สม่ำเสมอ
       >> ดูที่อัตรากำไรสุทธิ(NPM) ในแต่ละปี ไม่ควรน้อยกว่า 3-5% เพื่อยืนยันว่าบริษัทยังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง และ อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่ควรน้อยกว่า 15% เพื่อยืนยันว่า บริษัทสามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างสม่ำเสมอ
       ** ดังนั้น บริษัทที่ผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ผมจะเก็บไว้เป็น Watch list (ซึ่งส่วนของผมจะมีประมาณ 20-30 บริษัท) เพื่อเอาไปศึกษาต่อ และนำไปประเมินมูลค่าที่แท้จริง เพื่อหาจุดเข้าซื้อต่อไป ซึ่งวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น ผมจะนำมาแชร์ในบทความต่อไปครับ... ^_^

วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เรื่องของ "หนี้" (สหกรณ์)

     คิดอยู่นานมากๆ ว่าจะเขียนบทความเรื่องนี้ดีมั้ย?? เพราะว่าเรื่องที่จะเขียน มันอาจจะกระทบหลายๆคนที่มีปัญหาเรื่องนี้กันถ้วนหน้า แต่เพราะจุดประสงค์และความตั้งใจของผมตั้งแต่เริ่มต้นของการเขียนบทความคือ "เพื่อแชร์ความรู้ ประสบการณ์ สไตล์นักลงทุนมือใหม่ ทั้งในด้านการลงทุนและการใช้ชีวิตส่วนตัว เป็นบันไดเพื่อก้าวไปสู่อิสรภาพทางการเงิน" ดังนั้นความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ผมจึงอยากจะเอามาแชร์ให้ทุกท่านได้อ่านและนำกลับไปคิดทบทวนกันเองนะครับ..

     ที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นเรื่องของ "หนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์" ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มแยกประเภทตามอาชีพ เช่น สหกรณ์ครู ทหาร ตำรวจ สาธารณสุข พนักงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ/ส่วนท้องถิ่น เอกชนและอื่นๆ ซึ่งข้อมูลจากนิตยสารการเงินการธนาคาร แสดงสัดส่วนการกู้ยืมของทุกกลุ่มสาขาอาชีพ สรุปได้ตามรูปต่อไปนี้

ที่มา: www.facebook.com/moneyandbanking
     เป็นที่น่าตกใจว่า สัดส่วนที่มากที่สุดของการกู้ยืมเงินสหกรณ์ คือ "กู้หนี้ไปใช้หนี้" รองลงมาคือ ใช้สอยส่วนตัว ซื้อสร้างปรับปรุงสิ่งปลูกสร้าง ซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือน ตามลำดับ ก่อนที่ผมจะเห็นข้อมูลนี้ ก็เข้าใจว่า คนที่กู้เงินสหกรณ์ส่วนใหญ่จะกู้ไปทำธุรกิจ หรือ กู้ไปซื้อที่อยู่อาศัย แต่เมื่อเห็นสัดส่วนแล้ว ผมก็ชักไม่แน่ใจซะแล้ว..
     ทีนี้มาแยกดูแต่ละสาขาอาชีพกันบ้าง ผมจะขอยกตัวอย่างมาซัก 3 กลุ่มให้เห็นภาพกันคร่าวๆดังนี้ครับ




     ตัวเลขดังกล่าวเป็นหนี้สินเฉลี่ยต่อคน ที่นำโด่งมาเลยก็หนีไม่พ้น "คุณครู" ของเรานี่เองครับ หนี้เฉลี่ยต่อคนสูงถึง 864,860 บาท อย่าลืมว่า นี่เป็นเพียงตัวเลขหนี้สหกรณ์ เท่านั้น ยังไม่รวมไปถึงหนี้สถาบันการเงินอื่นๆอีก ซึ่งผมก็เข้าใจว่า แต่ละคน ก็คงมีภาระแตกต่างกันไป คงไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรมาก แค่ต้องการจะฝากให้ทุกท่านช่วยกันคิดวิเคราะห์และก็ตรวจสอบตัวเองดูละกันครับว่า ถึงเวลาที่เราจะหยุดก่อหนี้เพิ่ม แล้วหันมาใส่ใจสุขภาพทางการเงินในครอบครัวของเราแล้วหรือยัง ??

         >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊ก ที่นี่!! <<

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ลงทุนหุ้นกลุ่มค้าปลีก

     เมื่อพูดถึงธุรกิจค้าปลีก นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักเจ้าของสโลแกน "หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา 7-Eleven" ที่ไม่ว่าจะเดินทางไปแห่งหนตำบลใด ก็ต้องพบกับร้านสะดวกซื้อชื่อดังแห่งนี้ และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือสุดยอดธุรกิจอันดับต้นๆของเมืองไทย..


     7-Eleven หรือชื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือ CPALL ถือว่าเป็นธุรกิจค้าปลีกอันดับ 1 ของเมืองไทย เป็นสุดยอดธุรกิจที่ยากจะหาใครมาแทนที่ ด้วยจำนวนสาขา ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 รวมทั้งสิ้น 9,788 สาขา แบ่งเป็น :
     (1) ร้านสาขาบริษัท 4,391 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 45)
     (2) ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 5,397 สาขา (คิดเป็นร้อยละ 55)
     ร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 86 ของสาขาทั้งหมด และส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.
    >> เป้าหมาย : จะขยายสาขาให้ครบ 13,000 สาขา ในปี พ.ศ.2564
 
ที่มา www.set.or.th
     เมื่อมาดูที่งบการเงิน กวาดตาดูคร่าวๆ รายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งของบริษัท ผมเป็นคนนึงที่เข้าไปซื้อของที่ 7-11 อย่างน้อยไม่น่าจะต่ำกว่าสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งจากข้อมูลในงบการเงินระบุว่า จำนวนลูกค้ารวมทุกสาขาประมาณ 11.5 ล้านคน/วัน และ ยอดขายรวมทุกสาขาประมาณ 760 ล้านบาท/วัน  OMG!!!
     แน่นอนว่า หุ้น CPALL เป็นหุ้นหนึ่งในดวงใจที่ผมเฝ้าติดตามมาเป็นเวลานาน ราคาปรับตัวขึ้นมาตลอดทาง และขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 65.75 บาท เมื่อวันที่ 17 พ.ค.60 หลังจากนั้นก็เริ่มย่อตัวสลับขึ้นเล็กน้อยเพื่อปรับฐาน จนถึงเมื่อวาน 12 ก.ค.60 ราคาตกลงมาอยู่ที่ 59.50 บาท ถ้ามองจากการประเมินมูลค่า ถือว่าราคาไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูก แต่มันก็ทำให้ผมอดใจไม่ไหวที่จะเริ่มแหย่เท้าเข้าไปซักเล็กน้อยเป็นการชิมลาง...
         
           >>ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!!
     

วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เลือกหุ้นจาก "ภรรยา"

      ผู้หญิง มักมาพร้อมกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง เธอทั้งหลายต้องจัดเต็มกันตลอดเวลา ทั้งเดินช้อปตามห้างและสั่งซื้อออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีให้ถลุงกันเยอะแยะไปหมด แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ภรรยาคนสวยของผมไม่ค่อยใส่ใจมากนัก อาจจะมีบ้างนานๆที (นี่เป็นเหตุผลที่ผมเลือกเธอมาเป็นคู่ชีวิต ^_^ )  >>จั่วหัวมาซะขนาดนี้จะมีคนอ่านต่อมั้ยวะเนี่ย 55555+ 
      
      แต่!!...มีสิ่งนึงที่เธอชอบมาก หลายๆครั้งที่มีเวลาว่าง เธอจะเปิด Internet นั่งดู นั่งชมเพลินๆตลอด นั่นคือ "เพชร" ไม่ว่าจะเป็นแหวน จี้ ต่างหู สร้อยคอ พอเปิดดูแต่ละทีก็ต้องแลซ้ายมาถามสามีทุกทีว่า อันนี้สวยมั้ย แบบนี้สวยมั้ย แบบไหนสวยกว่ากัน ทู้กกกกที ไอ้เราก็ต้องตอบเธอทุกครั้ง (ลองไม่ตอบดูสิ!!)

     
     ด้วยความที่ผมเริ่มสนใจศึกษาธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ผมเลยคิดว่าธุรกิจผลิตและจำหน่ายเพชรก็น่าสนใจไม่น้อย เมื่อก่อน ผมก็คิดว่าคนที่ได้ครอบครองเพชรต้องเป็นคนที่มีฐานะพอสมควร แต่ด้วยความที่ภรรยาผมชอบเปิดให้ดูนู่นดูนี่บ่อยๆ ก็พบว่า คนชั้นกลางอย่างเราๆก็สามารถซื้อเพชรได้ในราคาที่ไม่แพงนัก จึงจุดประกายให้ผมเริ่มเข้าไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น และก็พบว่า...
     
     1) ปัจจุบันบริษัทมีจุดจำหน่ายเพชร 122 สาขาทั่วประเทศ ส่วนมากจะอยู่ตามห้างสรรพสินค้าตามหัวเมือง และมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
     2) ฐานลูกค้าปัจจุบันมีประมาณ 150,000 ราย ซึ่งมีโอกาสเพิ่มขึ้น จากแบรนด์ที่แข็งแกร่ง เป็นที่รู้จัก และจากสังคมที่คนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีกำลังจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
      
     ผมทำการประเมินมูลค่าหุ้นของบริษัทนี้แล้ว เห็นว่าราคายังต่ำกว่ามูลค่าพอสมควร อาจจะเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่คนยังไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอยเท่าไรนัก โดยเฉพาะในสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นโอกาสดีที่เราจะเข้าไปสะสมหุ้น เพื่อรอจังหวะที่บริษัทเริ่มมีกำไรกลับมาเติบโตขึ้น และราคาหุ้นก็จะสะท้อนมูลค่าของกิจการออกมา ถึงตอนนั้นเราก็คงต้องมาพิจารณาอีกทีว่าจะขายทำกำไรหรือจะถือหุ้นต่อไป...

           ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!!

วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ลงทุนหุ้น(อาจจะ)เสี่ยง..แต่!! คุณหลีกเลี่ยงมันได้ จริงหรือ??

     หลังจากที่ผมได้แชร์ประสบการณ์เรื่องการลงทุนไปหลายบทความ เริ่มมีหลายๆคนที่รู้จัก เริ่มสนใจ อยากที่จะเข้ามาลงทุนทั้งในรูปแบบของหุ้นรายตัว และกองทุนรวม คำถามแรกที่คนส่วนมากจะถาม (ทั้งที่ผมไม่อยากให้เริ่มจากคำถามนี้เลย) คือ "เป็นไงบ้าง กำไรดีมั้ย , ผลตอบแทนได้กี่% , ซื้อตัวไหนบ้าง ,ตัวนี้ดีมั้ย ,ตัวไหนกำลังมา ฯลฯ)  บางคน พอได้รับคำตอบจากผม สิ่งที่เคยคาดไว้ก็ไม่ผิดจากที่ผมคิด..
     
     "ไม่เอาดีกว่า..มันช้า ขี้เกียจรอ ปล่อยเงินกู้ดีกว่าบ้างแหละ...เล่นแชร์ดีกว่าบ้างแหละ...กลับไปลุ้นหวยเหมือนเดิมดีกว่าบ้างแหละ...บลา บลา บลา" ผมก็ไม่ได้ฟันธงว่าอย่างไหนดีกว่ากัน แล้วผมก็ไม่ได้บังคับใครให้มาลงทุนนี่หว่า แนะนำไปก็ไม่ได้เงินซักบาท เราก็แค่แชร์เรื่องราวที่(อาจจะ)เป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมโลกก็แค่นั้น แต่ที่ผมอยากจะตั้งคำถามกับทุกคนคือ..คุณหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นได้จริงหรือ??  มา..เดี๋ยวมาดูกัน...

     1. กองทุนประกันสังคม ที่เราๆท่านๆโดนหักไปทุกๆเดือน เค้าเอาเงินเราไปทำอะไรกัน ??


     ข้อมูลเมื่อ วันที่ 31/8/2556 กองทุนประกันสังคมแบ่งสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเป็น 6% ของพอร์ต แต่เมื่อแนวโน้มของเงินที่จะต้องจ่ายให้ผู้เกษียณอายุหรือผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องปรับสัดส่วนการลงทุนไปหาสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนมากกว่าในระยะยาว แผนการลงทุนเมื่อถึง วันที่ 31/12/2561 กองทุนประกันสังคมต้องลงทุนในหุ้น 21% ของพอร์ต

     2. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 
ที่มา : www.a-academy.net
     จากข้อมูลตามตาราง(ลางๆ) จะเห็นสัดส่วนการลงทุนซึ่งผมจะยกเฉพาะตราสารทุน(ซึ่งก็คือ "หุ้น") ปรากฎว่า แผนการลงทุนของ กบข.สำหรับข้าราชการที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นถึง 65% ของพอร์ต หลังจาก 45 ปีขึ้นไป กองทุนก็จะทำการลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเรื่อยๆเพื่อลดความเสี่ยงไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่ง ผมก็ไม่แน่ใจว่า ข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทราบหรือไม่ว่าที่ท่านๆโดนหักเงินไปทุกๆเดือน เค้าเอาไปลงทุนใน "หุ้น" นะครับท่าน..

     3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 
ที่มา : www.bangkokbiznews.com
     แผนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัท อาจจะแตกต่างกันไปตามนโยบาย แต่ยังไงก็แล้วแต่ ทางเลือกของการลงทุนก็จะยังมีหุ้นอยู่ด้วยในเกือบจะทุกแผนอยู่แล้ว

     หลังจากตัวอย่างทั้ง 3 ข้อ ผมขอถามซ้ำอีกครั้ง..คุณหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นได้จริงหรือ?? ผมคงไม่ต้องตอบคำถามนี้แล้ว ถ้าทุกคนได้อ่านมาตั้งแต่เริ่มต้น ฉะนั้น มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนต้องศึกษาวิชาการลงทุนเป็นวิชาติดตัว อย่าไปยึดติดคำโบราณที่บอกว่า "คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น" ทั้งที่คุณเองก็ได้ลงทุนในหุ้นไปแล้วโดยที่คุณ(อาจจะ)ไม่รู้ตัว...

              >>ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<
     

วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร

     ธนาคารพาณิชย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีประมาณ 10 กว่าบริษัท โดยมีทั้งธนาคารขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่ง บิ๊กโฟร์ ที่เราคุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่น ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กสิกรไทย แต่ละบริษัทก็มีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งแตกต่างกันไป
     ผมก็เป็นคนนึงที่เลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ โดยความเห็นส่วนตัวผมมองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นหุ้นที่มีความแข็งแกร่ง เนื้อหอม ใครๆก็อยากเข้าไปขอกู้เงิน ยกตัวอย่างง่ายๆกับคนใกล้ตัวผม ใครๆก็อยากมีบ้าน จะซื้อเงินสดคงไม่ไหว อยากมีธุรกิจ อยากมีโน่นนี่นั่น ก็ต้องเดินเข้าไปธนาคารเพื่อขอกู้เงิน ฉะนั้น
   1. ผู้กู้ (เราๆท่านๆ) ก็จะมีสถานะเป็น "ลูกหนี้"
   2. ผู้ให้กู้ (ธนาคาร) ก็จะมีสถานะเป็น "เจ้าหนี้"
   3. ผู้ถือหุ้น (ผม) ก็จะมีสถานะเป็น "เจ้าของ" ผมก็ไม่ต้องลงแรงอะไร แค่รอรับเงินปันผลจากกำไรของกิจการ หรือโชคดีหน่อยก็ได้รับกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น [แม่ง!!เท่โคตร ถือแค่ 100 หุ้น ทำเป็นคุย 555+]
    ทีนี้มาดูกันว่า ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร เราจะเข้าลงทุนในช่วงไหนกัน...
ที่มา : สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI)   
     จากภาพ เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ถ้ามองในภาพกว้าง ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจดูดีขึ้น เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น พี่ไทยเองก็เริ่มมีการลงทุนภาครัฐในโครงการใหญ่ๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงจังหวะในการสะสมหุ้น เมื่อต้องลงทุน บริษัทต่างๆก็ต้องมากู้เงินธนาคาร เมื่อธนาคารปล่อยกู้ได้เยอะ ก็จะได้กำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้เยอะ (ยังไม่พูดถึงหนี้เสียนะ) พอภาครัฐเริ่มลงทุน ภาคเอกชนก็มั่นใจ เริ่มเข้ามาลงทุน มีการใช้จ่ายในการบริโภคเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็ขยายตัวไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ช่วงรุ่งเรือง พอรุ่งเรืองสุดขีด ก็เข้าสู่ช่วงถดถอย และเข้าสู่ช่วงตกต่ำในที่สุด
     ฉะนั้น เราก็น่าจะพอมองภาพออกแล้วว่า หุ้นกลุ่มธนาคารเป็นหุ้นที่แปรผันตามวัฏจักรเศรษฐกิจ การจะเข้าไปซื้อขายหุ้นก็อาจจะต้องเข้าออกให้ถูกจังหวะด้วยนะครับ...
รายชื่อหุ้นกลุ่มธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
     ติดตามอ่านบทความอื่นๆ >> คลิ๊กที่นี่!!

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เล่นหุ้น & ลงทุนหุ้น

     ผมขอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวาน 12 มิ.ย.60 ครับ ด้วยความอยากรู้อยากลองตามประสานักลงทุนมือใหม่ ผมเข้าไปลองแหย่ขาซื้อหุ้นตัวนึงอย่างกล้าๆกลัวๆ ที่ราคาตกลงมารุนแรงหลายวัน จนเมื่อวานตอนตลาดเปิด ราคาเริ่มเด้งขึ้น เลยแย๊บขวาเข้าไปเล็กน้อย ผ่านไปไม่กี่นาที ราคาก็ขยับขึ้นเรื่อยๆ มือใหม่อย่างผมเกิดอาการตกใจทำอะไรไม่ถูก เลยปล่อยให้ราคามันวิ่งไปเรื่อยๆ จนก่อนตลาดปิด ผมตัดสินใจตั้งขาย แต่ราคามันก็ยังไม่ขึ้นมาถึงจุดที่ผมตั้งขายซะที..
     เช้า 13 มิ.ย. 60 ตลาดเปิด ผมตั้งใจมาจากเมื่อวานแล้วว่าราคาเปิดมาเท่าไหร่ผมก็จะขาย ไม่อยากเก็บไว้นานให้ทรมานจิตใจ ปรากฏว่าราคาเปิดโดดมาตามที่ผมตั้งใจจะขายเมื่อวานพอดี ผมตัดสินใจขายหุ้นตัวนี้ออกทันที
ทุน 1.27 บาท ผมขายไปที่ 1.41 บาท
     สรุป ผมทำกำไรไป 11.37% จากหุ้นตัวนี้ในเวลาไม่ถึง 2 วัน แต่ครั้งนี้ผมอาจจะโชคดี ผมคงทำไม่ได้อย่างนี้บ่อยๆ จากตัวอย่าง เป็นการเล่นหุ้น (ที่ไม่มีแบบแผนห่าเหวอะไรเลย) แต่ที่ผมทำ แค่อยากลองบริหารจิตใจดูว่ามันจะตื่นเต้นขนาดไหนกันเชียว แต่พอได้ลองแล้ว วิธีนี้มันคงไม่เหมาะกับคนใจปลาซิวอย่างผมแน่ๆ 555+
     แนวทางหลักของผมก็คงจะเป็นการ ลงทุนในหุ้น ที่มีการวิเคราะห์ธุรกิจมาเป็นอย่างดี มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน และซื้อในราคาที่สมเหตุสมผลจากการประเมินมูลค่าหุ้น ตามที่เคยเขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้...>>ติดตามอ่านบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! 
 

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เดินห้าง..ช้อปหุ้น..

     เชื่อว่าวัยรุ่น วัยจ๊าบอย่างเราๆ เดือนๆนึง ต้องไปเดินห้างอย่างน้อยเดือนละครั้ง บางคนอาจจะไปซื้อของใช้จำเป็นเข้าบ้าน ซื้อเสื้อผ้า ซื้อโทรศัพท์ ไปทำธุรกรรมทางการเงิน ไปเดินตากแอร์เล่นๆ ซื้ออีกหลายๆอย่างสารพัด และก็มีไม่น้อยที่บางคนพาครอบครัว พาคนรัก พาเพื่อนฝูง ไปหาอะไรกินอร่อยๆที่มีให้เลือกเต็มไปหมด ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น

     ธุรกิจร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าเป็นเทรนปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูงมากๆ ซึ่งหลายๆแบรนด์ก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และก็เร่งขยายสาขากันเป็นจำนวนมาก ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสไปเดินเล่นตามห้างต่างๆ ผมก็จะสังเกตุผู้คนที่เข้าไปกินอาหารในร้าน และก็พบว่า มีร้านที่เป็นแบรนด์ยอดฮิตที่ผมสนใจอยู่หลายร้านทีเดียว ที่คนจะเต็มตลอด บางร้านถึงขั้นต่อคิวกันซื้อก็มี ในฐานะที่เป็นนักลงทุน(มือใหม่) กับสไตล์การลงทุนแบบง่ายๆโง่ๆก็เกิดความคิดอยากจะลงทุนในธุรกิจอาหารเข้าให้แล้ว..

     จริงๆในลิสต์ที่ผมทำการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอาหารมีประมาณ 3 บริษัทที่จ้องจะเข้าไปซื้อ แต่พอประเมินมูลค่าหุ้นแล้วมันยังแพงมากจนซื้อไม่ลง สุดท้าย วันที่ได้สอยหุ้นกลุ่มนี้ก็มาถึง จริงๆแล้วบริษัทที่ว่านี้ทำธุรกิจหลักๆอยู่ 3อย่างด้วยกัน คือ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และอื่นๆ ผมเข้าไปศึกษาธุรกิจ อ่านงบการเงิน อ่านทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทำการประเมินมูลค่าหุ้นจนมั่นใจว่าจะลองแหย่ขาเข้าไปเป็นส่วงนึงของผู้ถือหุ้น

     วันประกาศงบการเงินไตรมาส 1/60 (น่าจะประมาณวันที่ 15 พ.ค. 60 ) ปรากฏว่ากำไรเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนคาดหวัง เกิดแรงเทขายหุ้นออกมาอย่างรุนแรง ราคาหุ้นลดลงไปจนถึงจุดที่ผมยอมรับได้ ผมไม่ลังเลที่จะสอยหุ้นตัวนี้เข้ามาในพอร์ตด้วยจำนวนเงินมหาศาล (100 หุ้น ฮ่าๆๆ) เพราะผมมองว่าธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตต่อไปในระยะยาว คนก็ต้องกินอาหารกันทุกวัน คนก็ต้องการที่อยู่อาศัยกันทุกคืน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย4 ยังไงแม่งก็ไม่มีทางเจ๊งแน่ๆวะ ในที่สุดผมก็ได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทนี้เรียบร้อย
     อย่างที่เคยพูดไปในบทความที่แล้วว่า จำนวนเงินลงทุนผมยังน้อยนัก ถึงราคาหุ้นจะไม่เป็นไปตามที่ผมประเมินก็ไม่เป็นอะไรมาก ถือเป็นการเริ่มต้นเรียนรู้(ตามแนวทางที่ผมเลือก) คือ "ซื้อหุ้นให้เหมือนซื้อกิจการ" แล้วถือยาวๆตราบใดที่พื้นฐานธุรกิจยังไม่เปลี่ยน ต่อไปเวลาเดินห้างผมก็โม้กับใครต่อใครได้แล้วว่า "กูเป็นเจ้าของแบรนด์นี้เว้ยยย!!! 555+"

     >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ลงทุนหุ้นตัวแรก

     วันนี้เป็นวันที่2 ที่ผมพาภรรยามาโรงพยาบาลจากอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง หลังจากกลางดึกวันเสาร์ที่ต้องนอนรอดูอาการไปรอบนึง สามีอย่างผมก็ต้องทำใจ และก็ต้องเข้าใจหัวอกคนท้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอาน่า!!สู้ๆจ้าแม่ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป...

     ระหว่างที่นั่งรอคุณแม่พบหมอ พร้อมกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว กับญาติและคนไข้หนาตาหลายพันชีวิต (ตามสไตล์โรงพยาบาลรัฐ) นั่งมองนั่นนี่นู่น เลยนึกขึ้นได้ว่านี่เรายังไม่ได้เขียนแชร์ประสบการณ์ซื้อหุ้นตัวแรกนี่หว่า!! ว่าแล้วก็จับโทรศัพท์ขึ้นมาโซโล่ทันที...

     อย่างที่ผมเคยเล่าไปในบทความก่อนๆว่า ผมเริ่มลงทุนในกองทุนรวมมาได้ซักประมาณ2ปีกว่าๆแล้ว แต่ในระหว่างที่ค่อยๆสะสมเงินลงทุน ผมก็ได้ศึกษาหุ้นรายตัวคู่ขนานกันมาเรื่อยๆ ผมทำการคัดกรองหุ้นแบบง่ายๆโง่ๆ ตามแบบฉบับของพี่เอ (a-academy) โดยการศึกษาทาง youtube ฟังจนเรียกได้ว่าอินและเข้าเส้นไปแล้วเรียบร้อย คัดจนได้หุ้นใน list มาประมาณ 30 บริษัท ซึ่งมี 10 บริษัทที่เรียกได้ว่าติดตามเป็นพิเศษ ทำการศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจ ศึกษาธุรกิจอย่างละเอียด อ่านงบการเงิน อ่านรายงานประจำปี อ่าน56-1 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เฝ้าดูผลประกอบการรายไตรมาส ทำการประเมินมูลค่าหุ้น และสุดท้ายเฝ้าดูพฤติกรรมราคา....
     แม่ง!!เขียนอะไรยาวจังวะ มึงบอกมาเลยดีกว่า มึงซื้อตัวไหน?? 555+
     นี่เป็นการประเมินมูลค่าหุ้นตัวแรกของผม วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นหาดูได้ที่  www.a-academy.com (ไว้ตอนหน้าผมจะมาเล่ารายละเอียดให้ฟังครับ) เป็นหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งหุ้นบริษัทนี้ นักลงทุนประเมินมูลค่าไว้สูงมาก เนื่องจากคาดหวังการเติบโตในระยะยาวของบริษัทที่คาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนเจ็บป่วยมากขึ้น เข้าโรงพยาบาลกันมากขึ้น สังคมชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ต้องการความสะดวกสบายในโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ

     สอดคล้องกับการคาดการณ์ของคนส่วนใหญ่ รายได้และกำไรของบริษัทเติบโตต่อเนื่องมา 3-4 ปีติดต่อกัน ราคาหุ้นก็สะท้อนมูลค่าโดยการปรับตัวขึ้นมาตลอด ผมเฝ้ามองหุ้นบริษัทนี้ด้วยความอิจฉาคนที่ถือหุ้นอยู่ ป่านนี้คงกำไรมหาศาลกันทุกคนแล้ว

     จนถึงเมื่อปลายปี ก.ย.59 บริษัทมีข่าวเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมแห่งหนึ่งมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์สุขภาพครบวงจร นักลงทุนเริ่มเทขายหุ้น เพราะคาดการณ์ว่าผลประกอบการณ์จะลดลงจากเงินลงทุนก้อนโต ราคาหุ้นก็ลดลงมาเรื่อยๆตั้งแต่นั้นมา

     15 พ.ค. 60 บริษัทประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/60 มีผลกำไรลดลงประมาณ 24% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

     16 พ.ค. 60 คนรอบข้างส่วนใหญ่ใจจดใจจ่อกับการลุ้นหวย แต่ผมเข้าซื้อหุ้นตัวนี้หลังจากที่ราคาลดลงจากเมื่อวานประมาณ 7% และราคาต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง

    ผมอาจจะประเมินมูลค่าผิดพลาดไปบ้าง ราคาอาจจะไม่สมเหตุสมผลตามอารมณ์ของตลาด แต่ด้วยความที่เป็นหุ้นตัวแรก เงินลงทุนผมยังน้อยนัก ถึงแม้ราคาหุ้นจะตกจนผมขาดทุนเกิน 50% ในระยะสั้นก็ตาม ผมก็ยังเชื่อลึกๆว่า ในเมื่อผมเลือกบริษัทที่พื้นฐานดี ราคาสมเหตุสมผล มีส่วนเผื่อความปลอดภัย ต่อให้ราคาจะลงไปถึงจุดไหน สุดท้ายในระยะยาว ราคาหุ้นก็จะปรับสมดุลไปหาผลประกอบการ บริษัทอยู่ได้ เราก็ไม่มีทางเจ๊งจนถึงขาดทุนเงินทั้งหมด(เหมือนซื้อหวย)อย่างแน่นอน...

ติดตามบทความอื่นๆ คลิกที่นี่!!

วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

วางแผนมีทายาท วางแผนการลงทุน

   
     คำถามยอดฮิตที่ผมและภรรยาต้องตอบตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าๆหลังจากแต่งงาน (เมื่อ 9 ม.ค. 57) คือ "เห็นแต่งกันมาตั้งนานแล้ว เมื่อไหร่จะมีลูก" สารภาพตามตรงว่าเราอยากมีตั้งแต่แต่งงานใหม่ๆแล้วครับ และส่วนใหญ่ คนที่แต่งงานกัน ก็อยากมีลูกกันทั้งนั้นแหละ
 
     แต่..แหม!! เขียนเรื่องวางแผนเก็บเงิน วางแผนลงทุนมาก็เยอะ จะไม่เขียนเรื่องวางแผนมีทายาทได้ไง เสียชื่อทิดหรรมแหล่หมด 555

     สืบเนื่องจากการที่เราเริ่มวางแผนเก็บออมลงทุนมาเป็นเวลา 2 ปีกว่าๆ ด้วยความที่ในช่วงนั้นเงินเก็บผมแทบไม่มีเลย มีแต่หนี้ จะมีก็แต่เงินเก็บของภรรยาเล็กๆน้อยๆ เกิดมีลูกขึ้นมาจะมีปัญญาเลี้ยงลูกมั้ยวะ?? เราก็เริ่มคุยกันว่า เมื่อไหร่ที่เรามีเงินเก็บถึงเป้าที่วางไว้ค่อยมีก็แล้วกัน..

     ผ่านมากินเวลากว่า 3 ปี เป้าหมายที่วางไว้ก็สำเร็จ เราเลิกคุมกำเนิดเมื่อ ก.พ.60 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ก็น่าจะมีข่าวดีให้ชื่นใจซะที...

ผลตรวจเมื่อ 24 เม.ย.60


     ส่วนแผนการบริหารเงินให้กับทายาทนั้น ด้วยผลตอบแทนอันน้อยนิดของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ (ผมชอบเรียกมันว่าดอกเบี้ยไม่เต็มบาท) เราจึงใช้ "กองทุนตราสารหนี้" เป็นแหล่งพักเงิน และช่วยเพิ่มผลตอบแทน ในระยะสั้นถึงกลาง เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปของลูก และใช้ "กองทุนหุ้น" เป็นกองทุนการศึกษาลูก เพื่อเร่งผลตอบแทนในระยะกลางถึงยาว ระหว่างที่ยังไม่ได้ใช้เงิน เราก็จะเติมเงินเข้าไปใน 2 กองทุนนี้ไปเรื่อยๆเพื่อสร้างวินัยและให้เพียงพอกับรายจ่ายในอนาคตต่อไป...

>>ติดตามอ่านบทความอื่นๆ คลิกที่นี่!! <<

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

อัพเดต งบดุลส่วนบุคคลประจำปี

   
     หนึ่งปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับอายุที่เข้าเลข 3 อย่างรวดเร็วเช่นกัน ช่วงหยุดยาวปีใหม่มัวแต่เพลินไปหน่อย เลยไม่ได้มาอัพเดตเรื่องราวการเงินการลงทุนไว้เตือนสติตัวเอง!! (เขียนไว้ เผื่ิอจะเตือนสติคนที่หลงเข้ามาอ่านได้บ้าง อิอิ)
 
     เมื่อต้นปี 2559 ผมได้บันทึกงบดุลของตัวเอง (รวมกับภรรยาด้วยจ้า แหะๆ) เก็บไว้เป็นข้อมูลพร้อมกับแชร์ให้เพื่อนๆได้ไปปรับใช้กัน ดูบทความเก่าที่ลิงค์นี้เลยเด้อ>> แชร์วิธีการจัดทำงบการเงิน
     เพื่อสร้างวินัยที่ดี ผมจึงได้จัดทำงบดุลประจำปี 2560 พร้อมกับเปรียบเทียบงบดุล ปี 2559 มาดูกันว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงยังไงกันบ้างครับ..


     ผมขอโชว์ข้อมูลเป็นเปอร์เซ็นต์(%) แทนการใช้จำนวนเงินเป็นบาทนะครับ (เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคง 555 ^_^) ตารางอาจจะดู งงๆนิดๆนะครับ สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย ในตารางจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และความมั่งคั่งสุทธิ
     
     ดูที่ไฮไลต์สีเขียวเลยละกันครับ   ความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์ - หนี้สิน

     จากตารางจะเห็นได้ว่าความมั่งคั่งสุทธิของผมเพิ่มขึ้น จาก 20.9% เป็น 39.9% นั่นหมายความว่า ผมสามารถสร้างสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และลดหนี้สินลงได้อีก 19% ฉะนั้น หากผมยังสามารถรักษาวินัยโดยการเพิ่มสินทรัพย์ ลดหนี้ ไปเรื่อยๆ ความมั่งคั่งสุทธิก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าใกล้ 100% ในไม่กี่ปีข้างหน้า
     เลยอยากเชิญชวนเพื่อนๆให้มาสร้างงบดุลหรืองบแสดงสถานะทางการเงินกันนะครับ เราจะได้ทราบถึงสถานะทางการเงินของเรา เพื่อที่จะสามารถวางแผนการเงิน การลงทุน อย่างเป็นระบบต่อไปครับ ..

     >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<
   

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2559

แตกต่าง อย่าง สร้างสรรค์


      ผมขอนำบทความบทหนึ่ง ของ หนังสือ The Millionaire FastLane โดย MJ DeMarco ผู้แปลก็คือ โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธ์ุ อาจารย์ทางการเงินของผมนั่นเอง
 
      หลังจากอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นรอบที่ 2 ผมก็มาสะดุดกับหัวข้อเรื่องที่ชื่อ "จงหันหลังให้กับมลพิษลมต้าน" เนื้อหาจะประมาณว่า...
     "คุณต้องหันหลังให้กับผู้คนที่พ่นมลพิษลมต้านใส่คุณ ถ้าคุณไม่ระวังให้ดี ชีวิตจะถอยหลังลงคลองเข้าสู่วงจรซ้ำๆที่เป็นเรื่องปกติของสังคม คือ ตื่นเช้า ไปทำงาน กลับบ้าน กินข้าวเย็นร้านหรู ดูละครหลังข่าว เข้านอน แล้วก็วนซ้ำแบบนี้อีกวันแล้ววันเล่า กว่าจะรู้ตัวก็ผ่านเลยไป 30 ปี 40 ปีแล้ว ร่างกายก็เริ่มร่วงโรย ได้แต่เฝ้าคำนึงถึงอดีตที่แก้ไขอะไรไม่ได้"
                  โดน!! เต็มๆ โดนโคตรๆ โดนเอี้ยๆ
     ผมเริ่มทำอะไรบางอย่างที่ "แตกต่าง" จากคนส่วนใหญ่มาซักประมาณ 2 ปี ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่ามันจะประสบความสำเร็จขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ ผมได้หันหลังให้กับมลพิษลมต้านมาได้ประมาณนึงแล้ว ผมเชื่อเสมอว่า สิ่งที่เลือกในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตทางการเงินของผม ผมแน่ใจและมั่นใจว่าเลือกถูก ถึงแม้ว่าผมจะเลือกผิด ผมก็ต้องมีชีวิตอยู่กับผลลัพธ์จากการเลือกนี้แน่นอน..



     ลมต้านส่วนใหญ่ที่ชอบเข้ามาพัดผมจนเซ มักจะมีข้ออ้างหลักๆอยู่ 2 ข้อ คือ ไม่มีเวลา และ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง...
     คนเราขี้เกียจ คนเราชอบให้มีคนเอามาส่งถึงที่ คนเราไม่อยากอ่าน ไม่อยากเชื่อมโยงจุดต่างๆ พวกเขาต้องการให้ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยมาให้เลย สุดท้าย ก็ไม่พ้นการพนัน เสี่ยงโชค หรือไปลงทุนในอะไรที่ไม่เข้าท่า

       >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เรียนรู้ เพื่อ จัดการกับอารมณ์ของตลาดหุ้น


     วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วมากๆ นี่ก็ใกล้จะสิ้นปีเข้ามาทุกทีๆ ช่วงนี้เริ่มมีพี่ๆน้องๆ ที่ทั้งรู้จักและไม่รู้จักมากหน้าหลายตาเริ่มโชว์พอร์ตเขียวๆจากตลาดหุ้น กำไรเท่านั้นเท่านี้ออกมาเรื่อยๆ ตลาดทั้งในประเทศ และหลายๆประเทศดูสดใส จนอดใจกันไม่ค่อยจะได้นักที่จะบินเข้ากองไฟ..

ถามว่า : แล้วผมได้เข้าไปซื้อขายหุ้นในช่วงนี้มั้ย??
ตอบแบบหล่อๆเลยว่า : ผมยังไม่มีพอร์ตหุ้นเลยด้วยซ้ำ  (เอ้า!! แล้วมึงจะพูดทำแมวน้ำทำไมวะ 555)

ที่มา http://news.mthai.com/

ต้องกลับไปที่บทความเก่าๆ ของผมที่เคยเขียนไว้ ชื่อเรื่องว่า จุดเริ่มต้นการลงทุน ประเด็นหลักๆ คือ

     "ผมตั้งเป้าหมายการลงทุนแบบง่ายๆโง่ๆไว้ว่า ทุกๆเดือนจะใส่เงินลงทุน (ในกองทุนรวม) เข้าไป อย่างน้อย 20% ของเงินเดือน สะสมไปเรื่อยๆ โดยยังไม่คาดหวังผลตอบแทนอะไรมาก ระหว่างนี้ก็ศึกษาการลงทุนรูปแบบอื่นๆควบคู่กันไปด้วย ทั้งเรื่องของการทำธุรกิจ ลงทุนหุ้นรายตัว ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ขายของออนไลน์ เขียนบทความออนไลน์ ฯลฯ.."

     ทุกๆเดือน ผมก็ทำตามเป้าหมายที่ผมเคยเขียนไว้ตั้งแต่ ม.ค.58 แถมยังได้มากกว่าแผนด้วยซ้ำ เพราะ ผมใส่เงินลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ ไปประมาณ 30-35% ของเงินเดือนทุกๆเดือน และยังศึกษา อ่านหนังสือ ฟังสัมมนา เรื่องการลงทุนรูปแบบต่างๆอย่างสม่ำเสมอ สองสิ่งนั้นก็คือ "การทำธุรกิจ"และ "หุ้นรายตัว" ที่ผมเน้นเป็นพิเศษว่านี่แหละ จะเป็นสินทรัพย์การลงทุนเปลี่ยนชีวิตของผมได้

     คำถามต่อมา แล้วทำไมยังไม่ลงทุนในธุรกิจ และหุ้นรายตัวอีกล่ะ?? (ถามเองตอบเอง)
ตอบแบบหล่อๆอีกนั่นแหละ : 
     1.ธุรกิจ ในความหมายของผม คือ ารเป็นเจ้าของกิจการ >> เจ้าของกิจการต้องสามารถควบคุมกิจการ ซึ่งไม่ว่าเราจะอยู่หรือไม่อยู่ดูแลกิจการ เงินก็จะไหลเข้ากระเป๋าเราตลอดเวลา แตกต่างจากการทำธุรกิจส่วนตัว ที่เราต้องเอาเวลาไปแลกกับเงิน (ซึ่งผมก็กำลังทำควบคู่ไปกับงานประจำ) ที่เราไม่มีอำนาจควบคุม ต้องใช้ทั้งพลังแรงกายและแรงใจ เพราะถ้าหยุด ท้อแท้ ขี้เกียจเมื่อไหร่ ก็ไม่สามารถทำเงินได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนทำธุรกิจส่วนตัวจะร่ำรวยไม่ได้นะครับ เขียนดักไว้ก่อน เดี๋ยวผมหลบตรีนไม่ทัน 555
    
     2.หุ้น ผมเลือกแนวทางการลงทุนที่ชัดเจนไว้แล้วว่า ผมจะเป็นนักลงทุนระยะยาว จะเรียกว่า สไตล์นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investor) ก็ยังมิอาจเอื้อม เพราะผมยังห่างไกลจากพี่ๆและอาจารย์สาย VI ทั้งหลายนัก ผมจะพยายามสะสมเงินลงทุนไปเรื่อยๆ ไม่ได้เร่งรีบอยากรวยเร็ว แล้วเอาเงินเล็กๆน้อยๆไปเก็งกำไร ซื้อๆขายๆ เพราะ ผมคิดว่า ผมยังไม่มีความสามารถมากถึงขนาดที่จะเปลี่ยนเงินหลักหมื่นหลักแสน เป็นเงินหลักสิบล้านร้อยล้านในระยะเวลาสั้นๆ


     >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2559

LTF & RMF ขุมทรัพย์สำหรับผู้เสียภาษี

 
     ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่(ที่รู้จักมักคุ้นกันกับผม) ไม่เคยรู้จัก กองทุนฝาแฝด ที่ ชื่อว่า LTF และ RMF หรือหลายคนอาจจะเคยได้ยิน แต่ไม่คิดที่จะใช้ประโยชน์จากมันเท่าไหร่หรอก ฉะนั้นบทความนี้ผมจะเขียนเก็บไว้เผื่อว่าวันนึงจะมีซักคนที่เอามันไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามสิทธิ์ที่เราควรได้รับ แล้วไอ้เจ้า LTF&RMF มันคืออะไร มาเริ่มทำความรู้จักกันเลยครับ...

LTF คืออะไร ?
     LTF ย่อมาจาก Long Term Equity Fund เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้นระยะยาว โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด 

       ผลตอบแทนนักลงทุนจะได้รับ คือ
1.เงินลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ (กำไรแน่ๆ ส่วนคำอธิบายพร้อมภาพประกอบด้านล่าง)
2.กำไรจากมูลค่าส่วนต่าง (เช่น ซื้อหน่วยลงทุน 10 บาท/หน่วย เมื่อครบ 7ปีปฏิทิน ขายที่ 15 บาท/หน่วย กำไร 50%)
3.กำไรจากเงินปันผล (กรณีเลือกกองที่มีนโยบายจ่ายปันผล)

           เงื่อนไขของ LTF
1.ลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษี
2.ซื้อปีไหน ใช้ลดหย่อนภาษีปีนั้น ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่อง
3.ต้องถือลงทุนอย่างน้อย 7 ปี นับปีปฏิทิน (สามารถถือนานกว่านั้นได้)

RMF คืออะไร ?
     RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการเกษียณอายุประเภทหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ ที่ทางการให้การสนับสนุน สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ

          เงื่อนไขของ RMF
1.ลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษี เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข. และเบี้ยประกันแบบบำนาญ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
2.ต้องลงทุนต่อเนื่อง โดยขั้นต่ำ 3%ของรายได้ หรือ 5,000 บาท และสามารถเว้นการลงทุนได้ปีเว้นปี
3.สามารถขายได้เมื่ออายุครบ 55ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปี

พอรู้จัก LTF&RMF กันพอสมควรแล้วนะครับ ทีนี้มาถึงการคำนวณฐานภาษีเพื่อที่จะรู้ว่าเราจะต้องซื้อกองทุนกันเท่าไหร่ดี และวิธีคัดเลือกกองทุน ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่าง การคัดเลือก LTF นะครับ...

คำนวณการซื้อ LTF&RMF (ที่มา : http://www.kasikornasset.com/Pages/CalTax.html )

ขั้นตอนที่ 1 : กรอกรายได้ 
ผมสมมุติให้ นายแหล่ มีเงินเดือน 35,000 บาท โบนัส ดอกเบี้ย เงินปันผล รายได้อื่นๆ ไม่มี

ขั้นตอนที่ 2 : กรอกรายการลดหย่อนและบริจาค 
มีค่าใช้จ่ายในการลดหย่อน เป็น ค่าเบี้ยประกันชีวิต 10,000 บาท และ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน 10,000 บาท
ขั้นตอนที่ 3 : สรุปผล 


   =>> กรณีนี้ นายแหล่ ลงทุน LTF ไป 40,000 บาท และ RMF ไป 40,000 บาท ฉะนั้น ภาษีที่ประหยัดได้ 4,000 บาท (ได้แน่ๆยังจะไม่เอาอีกหรือ??)  คลิก คำนวณภาษีได้ ที่นี่เลยจ้า!!

วิธีการคัดเลือก LTF

ที่มา : www.siamchart.com
     ผมใช้วิธีคัดกรองโดยดูผลตอบแทนย้อนหลัง จาก เลือกกองทุน LTF คลิกที่นี่!!  (ไม่เฉพาะ LTF นะครับ กองทุนประเภทอื่นก็มีเหมือนกัน) ในที่นี้จะมีทั้งสิ้น 10 กองทุนที่มีผลตอบแทนย้อนหลังดีที่สุด

....เริ่มเห็นภาพมากขึ้นยังครับ??  (เห็น เ-ี้ย อะไรล่ะ กูยิ่งงงกว่าเดิม 555)....
     
    ไม่ใช่ว่าเราจะดูแค่ผลตอบแทนย้อนหลังของกองที่ดีที่สุดแล้วซื้อเลย ยังมีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เช่น ความสะดวกในการซื้อกองทุนนั้นๆ ค่าธรรมเนียม ขนาดกองทุน สไตล์การลงทุน การกระจายการลงทุน นโยบายเงินปันผล ฯลฯ  
     ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ท่านสามารถดาวน์โหลด จาก www.wealthmagik.com แล้วนำ Fund Factsheet ของแต่ละกองทุนมาเปรียบเทียบตามตัวอย่างข้างบน หลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับทุกท่านแล้วล่ะครับ ว่าจะเลือกกองทุนไหนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการความมั่งคั่งของเรา สำหรับผมคงชี้เป้าให้ทุกท่านไม่ได้ เดี๋ยวเกิดผลตอบแทนไม่เป็นไปตามคาดขึ้นมาผมคงเป็นหมาหัวเน่าแน่ๆ 555555

"ขอความมั่งคั่ง จงสถิตย์แก่ทุกท่านที่มุ่งมั่นครับ"

                                                                                              
       >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ..สวัสดิการชั้นยอดของมนุษย์เงินเดือน..

 
     เมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ผมได้ยินผู้บังคับบัญชาพูดคุยให้ฟังเรื่อง การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือ ม.ราชภัฏชัยภูมิ ที่ผมทำงานในปัจจุบัน นั่นเอง

     สาระสำคัญคือ ทางผู้บริหารเริ่มเกริ่นเรื่องนี้ขึ้นมา คล้ายๆว่า เป็นการเช็คเสียงส่วนใหญ่ (คล้ายๆการลงประชามติที่คุ้นเคย อิอิ) ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะจริงเท็จประการใด

     แต่สำหรับบุคลากรตัวน้อยๆอย่างเราหรือสำหรับลูกจ้างหน่วยงานอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ ก็คงต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อนว่า ไอ้เจ้า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หน้าตามันเป็นยังไง??...

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

     กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม“ และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินให้แก่ลูกจ้างที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ความสำคัญของ การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีการออมอย่างต่อเนื่อง มีวินัย และมีนายจ้างช่วยออมแล้วยังมีการนำเงินไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารมืออาชีพ และดอกผลที่เกิดขึ้นจะนำมาเฉลี่ยให้กับสมาชิกกองทุนทุกคนตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน 


ที่มา www.mfcfund.com
สวัสดิการชั้นยอด 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
   
     1. เราสะสมเท่าไหร่ นายจ้างสมทบเท่านั้น หรือ มากกว่า เช่น เดือนที่ 1 ; 1,000+1,000 = 2,000 บาท เรากำไรแน่ๆ 100%
   
      2. ผลประโยชน์ทางภาษี
2.1) จากเงินสะสม เช่น ปี 2560 เราสะสมได้ 20,000 บาท สามารถนำไปยื่นลดหย่อนภาษีได้
2.2) กำไรจากผลการดำเนินงาน ไม่ต้องเสียภาษี
2.3) เมื่อเกษียณอายุ ลาออกจากกองทุนฯ สมมุติได้เงิน 2ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี
   
      3.เป็นการบังคับให้เราออม/ลงทุน อย่างต่อเนื่อง สมมุติให้เราออมเองทุกๆเดือน ฟังเหมือนง่าย แต่มีซกกี่คนที่ทำได้ แค่เงินจะแ...ก แต่ละเดือนยังไม่พอเล้ยยยย จริงมั้ยครับ??

นโยบายการลงทุน
     จะขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการกองทุนฯ แต่งตั้งมาจาก ฝ่ายนายจ้าง+ฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งจะเป็นผู้คัดเลือกบริษัทจัดการกองทุนฯ และ เป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุน ซึ่งแบ่งได้ 2 ข้อหลักๆ ดังนี้

     1. ทุกคนลงทุนนโยบายเดียวกัน (ผมขอเรียกมันว่า นโยบายหัวโบราณ) => คือ ลูกจ้างไม่มีสิทธิ์เลือกสัดส่วนการลงทุนใดๆ ซึ่งส่วนมากนโยบายพวกนี้ อัตราผลตอบแทนจะต่ำ ความเสี่ยงต่ำ แพ้เงินเฟ้อ

     2. Employee's Choice => ลูกจ้างมีทางเลือกเป็นของตัวเอง
2.1) Menu Plan เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ไม่มากนัก
2.2) Free Hand ยืดหยุ่นได้มาก เลือกได้อิสระ เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ ความเข้าใจด้านการลงทุนเป็นอย่างดี

ผลตอบแทนการลงทุน
     จะขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนที่เราเลือก โดยผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ ซึ่งเป็นเพียงการคาดการณ์ในเบื้องต้นเท่าน้ั้น โดยการกรอกตัวเลขลงใน excel ให้ดูผลตอบแทนในลักษณะต่างๆ 3 ลักษณะ ดังนี้

แบบที่ 1 รับความเสี่ยงได้ต่ำ (ลงทุนในตราสารหนี้ 100%) เงื่อนไขคือ เริ่มลงทุน อายุ 25 ปี เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท เงินเดือนขึ้น 5%ต่อปี เงินสะสม 5% เงินสมทบ 5%  คาดหวังผลตอบแทน 3% ต่อปี เมื่อเกษียณ จะมีเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,880,000 บาท
ที่มา www.a-academy.net

แบบที่ 2 รับความเสี่ยงได้ปานกลาง (ตราสารหนี้ 50% หุ้น 50%) เงื่อนไขคือ เริ่มลงทุน อายุ 25 ปี เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท เงินเดือนขึ้น 5%ต่อปี เงินสะสม 5% เงินสมทบ 5%  คาดหวังผลตอบแทน 6% ต่อปี เมื่อเกษียณ จะมีเงินทั้งสิ้นประมาณ 3,000,000 บาท
ที่มา www.a-academy.net

แบบที่ 3 รับความเสี่ยงได้สูง (หุ้น 90%-100%) เงื่อนไขคือ เริ่มลงทุน อายุ 25 ปี เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท เงินเดือนขึ้น 5%ต่อปี เงินสะสม 5% เงินสมทบ 5%  คาดหวังผลตอบแทน 10% ต่อปี เมื่อเกษียณ จะมีเงินทั้งสิ้นประมาณ 6,500,000 บาท
ที่มา www.a-academy.net
      >> ติดตามบทความอื่นๆ คลิ๊กที่นี่!! <<